ค่ายทำโป่งเทียม 1-2 พ.ย. 2557
ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ที่มา : อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปรวมตัวกันจัดกิจกรรม มีทั้งค่ายอนุรักษ์ อาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ค่ายอนุรักษ์ เนื่องจากสมาชิกค่ายจะมีความสนิทสนมผูกพันกันมากกว่ากิจกรรมประเภทอื่น การจัดค่ายทำให้มีแนวร่วมหน้าใหม่เข้ามาช่วยเป็นทีมงาน
ทีมงาน คือ คนที่อาสาทำโดยไม่หวังผลตอบแทน มาเรียนรู้เป็นประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตแล้ววางมือไป หากไม่มีค่าย เราก็จะไม่มีคนหน้าใหม่มาทดแทน คนเก่าจะหายไปทีละคน สิ่งที่ทำให้ชมรมอยู่ได้คือการสืบทอดรุ่น ดังนั้น เราจึงต้องแสวงหาคนรุ่นใหม่มาสานต่อเจตนา
ค่ายแรกเริ่มต้นเมื่อปี 2554 เป็นค่ายปลูกป่าที่อุบลราชธานี ต่อมาก็มีการเปลี่ยนหัวข้อมาเรื่อยๆ ได้แก่ เก็บขยะ สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกป่าชายเลน ทำแนวกันไฟ จนถึงครั้งนี้ นับเป็นค่ายที่ 6 หัวข้อในครั้งนี้ คือ ทำโป่งเทียม
โป่ง คือ ดินเค็มที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์เคี้ยวเอิ้อง เช่น เก้ง กวาง กระทิง วัวแดง ควายป่า ช้างป่า เป็นต้น สัตว์เหล่านี้จำเป็นต้องกินดินโป่ง เพื่อช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร เมื่อเวลาผ่านไปแร่ธาตุในดินลดปริมาณลง บวกกับที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานไปหาแหล่งใหม่ได้ การทำโป่งเทียมจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้สัตว์ป่าเหล่านี้ได้รับธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย
รายละเอียดกิจกรรม
วันเสาร์ที่ 1 พ.ย. 2557
06.30 น รวมพลที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดมเกาะพญาไท (มีแผนที่ให้ดูในหน้ากิจกรรม), ออกเดินทางโดยรถตู้
09.00 น (โดยประมาณ) เดินทางถึงปากช่อง (หน้า เท-วา-ดา พลาซ่า) เปลี่ยนพาหนะย้ายไปขึ้นรถสองแถว
10.30 น (โดยประมาณ) เดินทางถึงหนองผักชี แวะจอด 10 นาที ให้สมาชิกลงมาดูโป่งตัวอย่าง ‘โป่งชมรมเพื่อน’
11.00 น (โดยประมาณ) เดินทางถึงสถานีกางเต็นท์ลำตะคอง, รวมพล-รับฟังคำชี้แจง, กางเต็นท์ (ทางชมรมเช่าเต็นท์และเครื่องนอนให้ ได้แก่ แผ่นรองนอน หมอน และถุงนอน)
12.00 น รับประทานอาหารเที่ยง
13.00 น รวมพล, แนะนำตัว, บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชมรม
13.20 น เดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ทำโป่ง, บรรยายความรู้เกี่ยวกับโป่งเทียม 10 นาทีแล้วเริ่มลงมือปฏิบัติ, เสร็จแล้วสำรวจหาร่องรอยของสัตว์ป่า ฟังเสียงร้อง ศึกษารอยเท้าและมูลของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ (สัตว์ป่าที่มีโอกาสสูงที่จะได้เห็น คือสัตว์ที่มีอยู่ชุกชุม ได้แก่ เก้ง กวาง ลิง และนกชนิดต่างๆ ส่วนสัตว์อื่นๆ ถ้าโชคดี(จังหวะดี)อาจจะได้เห็น เช่น กระทิง ช้างป่า หมูป่า หมีควาย เสือโคร่ง หมาใน เป็นต้น)
16.30 น (โดยประมาณ) กลับมาถึงที่พัก
17.00 น รับประทานอาหารเย็น, อาบน้ำ-ทำธุระส่วนตัว, พักผ่อนตามอัธยาศัย
19.00 น รวมพล, กิจกรรมสันทนาการ-สานสัมพันธ์
22.00 น ส่องดูสัตว์ป่าตอนกลางคืนบริเวณชายป่ารอบที่พัก (มักจะมีสัตว์บางชนิดออกหากินใกล้ที่พัก เช่น กระรอก กระต่ายป่า เม่นใหญ่ บ่าง ชะมด(อีเห็น) เป็นต้น), แยกย้ายเข้านอน (เต็นท์ละ 3 คนแยกชาย-หญิง)
วันอาทิตย์ที่ 2 พ.ย. 2557
06.30 น ตื่นนอน, ทำธุระส่วนตัว, รับกาแฟและของว่าง (ทางชมรมมีให้เฉพาะกาแฟกับขนมปัง สมาชิกที่มีความประสงค์จะรับประทานมื้อเช้าเป็นอาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกง สามารถหารับประทานเองได้ที่ร้านค้าสวัสดิการ)
07.00 น รวมพล, เดินทางไปส่องดูสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่ทำโป่ง และสำรวจดูร่องรอยสัตว์ป่าที่ออกมากินดินโป่งที่ทำไว้, เสร็จแล้วกลับที่พัก
09.30 น เก็บเต็นท์-เก็บสัมภาระ
10.00 น ล้อมวงเสวนาหัวข้อเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สรุปกิจกรรม
12.00 น รับประทานอาหารเที่ยง
13.00 น ขึ้นรถ เดินทางไปยังน้ำตกเหวสุวัต
15.00 น ออกจากน้ำตกเหวสุวัต เดินทางไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้สมาชิกชมการจัดแสดงนิทรรศการของทางอุทยาน อาทิเช่น ของกลางซากสัตว์ป่าและอาวุธที่จับกุมได้จากพวกลักลอบล่าสัตว์ รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ (มีร้านจำหน่ายสินค้าและอาหาร)
16.30 น เดินทางออกจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปขึ้นรถตู้ที่ปากช่อง (สมาชิกรับผิดชอบตนเองหาอาหารมื้อเย็นรับประทานเองตามร้านค้า)
18.00 น ขึ้นรถ เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ (ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 20.00 น )
ค่าใช้จ่าย คนละ 970 บาท เป็นค่ารถค่าเดินทาง ค่าที่พัก(เช่าเต็นท์และเครื่องนอน) ค่าอาหาร-น้ำดื่ม ค่าวัสดุ/อุปกรณ์ ตามที่ระบุไว้ในโปรแกรม แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานเนื่องจากชาวไทย/ต่างชาติ เด็ก/ผู้ใหญ่ เก็บไม่เท่ากัน (ชมรมของเราเป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพรวมตัวกันจัดกิจกรรมเป็นงานอดิเรก ไม่ใช่สถาบัน สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรใดๆ ที่มีรายได้ และไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น และทางชมรมพิจารณาว่าเราจัดในนามกลุ่มบุคคลทั่วไป ซึ่งหลายคนเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ไม่ได้จัดในนามเด็กเยาวชน ควรจะเป็นผู้ให้แก่ส่วนรวมมากกว่าเป็นผู้ขอ เราจึงไม่ได้ของดเว้นค่าธรรมเนียมให้)
คุณลักษณะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1.บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือเป็นบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ตัดสินใจด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง)
2.มีวินัยในตัวเอง รักษากฎระเบียบ ตรงต่อเวลา และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม
3.มีความเข้มแข็งอดทน อยู่ง่ายกินง่าย ดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ และรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเองได้
4.มีความเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความหมายการอนุรักษ์ สามารถแยกแยะประเด็นอนุรักษ์โดยไม่ปะปนกับเรื่องอื่น (นักศาสนาเมตตาธรรม คนรักสัตว์ หรือนักสิทธิสัตว์ ก็สามารถเป็นนักอนุรักษ์ได้ เช่น คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บางชนิดเพราะรัก เมตตา หรือกลัวบาป แต่ไม่เอาความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ด่าทอหรือต่อต้านคนที่ฆ่ากิน เพราะแยกแยะได้ว่าเป็นห่วงโซ่อาหารที่ไม่ผิดหลักการอนุรักษ์ เป็นต้น)
หมายเหตุ : คุณลักษณะเหล่านี้เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่ชมรมต้องการ เนื่องจากค่ายนี้จัดขึ้นเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์อนุรักษ์ หรือปั้นนักอนุรักษ์ และแสวงหาแนวร่วม โดยคาดหวังว่าคนที่มาร่วมค่ายจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งกับเราในอนาคต จึงอยากได้คนที่มีเจตนา แนวคิด มุมมองที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และสามารถเข้ากับเราได้
ขั้นตอน/วิธีการสมัคร (คัดเลือกผู้สมัคร)
1.ท่านสามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มรับสมัครได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/1CXEW1ecuYc0Opx6B0a6csLWezrysk2MB5AL9X-l...
2.ระบุข้อมูลของคุณในแบบฟอร์มด้วยตัวเอง รับสมัครเป็นรายบุคคล ไม่รับฝากสมัครรวมกันเป็นหมู่คณะ เพื่อน คู่แฟน บริษัท หรือครอบครัว
3.หากได้รับการคัดเลือก คุณจะได้รับข้อความตอบกลับทาง facebook เราจะแจ้งหมายเลขบัญชีและกำหนดเวลาโอนเงินให้คุณทราบเพื่อยืนยันตน
หมายเหตุ : การคัดเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการ 6 คน
คณะกรรมการค่าย
ว่าที่ร้อยโทสราวุฒิ สารคำ (โย) ประธานค่าย
นางสาวนฤมล เพ็ชร์จูด (ตะเม) ฝ่ายโครงงาน
นางสาวบุณฑริก ไชยสมบัติ (ป๊อกแป๊ก) ฝ่ายสวัสดิการ
นางสาวชุติมน มโนชัย (ก้อย) ฝ่ายสันทนาการ
นายสุรศักดิ์ ประไพรินทร์ (ต๋อง) ฝ่ายประสานงานทั่วไป
นางสาวผ่องพรรณ โรจน์เวฬุริยวงศ์ (ฟ่ง) เหรัญญิก
หน้ากิจกรรม : https://www.facebook.com/events/295824433923753
( หากสนใจ โปรดกดเข้าร่วมในหน้ากิจกรรม เพื่อทราบความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบัน )
อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม https://www.facebook.com/EPV.or.th