ชื่อโครงการ ค่ายระยะสั้นบ้านเรียนท่ายาง
(สร้างที่พักอาสาสมัคร สอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ และกิจกรรมกรรมกับเด็ก)
ระยะเวลาโครงการ 2- 15 สิงหาคม 2558
ประวัติองค์กร
“กลุ่มดาหลา” ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 โดยเพื่อนผู้รักงานอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จัดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนถึงวันนี้ กลุ่มดาหลาได้ดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันมาเข้าสู่ปีที่ 10 เสมือนเด็กน้อย ที่เริ่มด้วยวัยแห่งการเรียนรู้ รอวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ของความปรารถนาดีต่อสังคมร่วมกัน
นอกเหนือจากการจดทะเบียนเป็นสมาคมในประเทศไทย ในเครือข่ายระหว่างประเทศนั้นดาหลาก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CCIVS หรือ (คณะกรรมการประสานงานเพื่ออาสาสมัครนานาชาติ) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายงานเกี่ยวกับอาสาสมัครทั่วโลก และกลุ่มองค์กรเครือข่ายในเอเชีย NVDA หรือ (เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้ เสมือนตัวกลางในการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนอาสาสมัครนานาชาติ เข้าร่วมโครงการที่ทางกลุ่มดาหลาและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้น
เป้าหมาย องค์กร
เป้าหมายหลักของเรา คือ “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เราได้แยกย่อยเป็น 3 แนวทางคือ
1. ส่งเสริม หรือการร่วมผลักดันกิจกรรมกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆเช่น การสร้างศาลา หรือศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น การทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน
2. เสริมสร้างมิตรภาพ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมจะนำกลุ่มอาสาสมัครไทยและต่างชาติและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน
3. สงวน และดูแลรักษา สงวน และดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จากรุ่นสู่รุ่น
ประวัติโครงการ
นายทวี หมีนหวัง (บังหลีม) หนึ่งในชาวบ้านชุมชนท่ายาง ผู้ริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง เชื่อว่าชุมชน และครอบครัวของเด็กและเยาวชน สามารถเป็นพื้นที่ให้เด็กๆได้เรียนรู้ทักษะชีวิต วีถีชีวิต และทุกกระบวนการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากที่บ้าน ในขณะที่ปัจจุบัน ชุมชนต่างๆ ไม่สามารถที่จะจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการบ้านเรียนได้ จึงส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในตัวเมือง ซึ่งเชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่า บางครอบครัวส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งมีคุณภาพการเรียนการสอนสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ ทำให้ชุมชนประสบปัญหา โรงเรียนในชุมชนเริ่มมีขนาดเล็กลง และอาจทำให้รัฐบาลใช้นโยบายควบรวมโรงเรียนหรือยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ จนจะกลายเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้การริเริ่มโครงการบ้านเรียนท่ายาง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะดำรงไว้ซึ่งการจัดการศึกษาของลูกหลานในชุมชน โดยคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการร่วมกับครูและองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยการเอาใจใส่กับการศึกษาของเยาวชนให้มากขึ้น โดยใช้กระบวนการบ้านเรียนเป็นเครื่องมือพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนไปพร้อมๆกัน
แนวคิดบ้านเรียนท่ายาง เริ่มต้นจากการที่บังหลีมต้องการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคตประกอบกับ ศักรินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของดาหลา ได้เข้าไปติดต่อประสานงานกับบังหลีม และเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในชุมชน โดยมีนักเรียนให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงวางแผนโครงการในอนาคต ที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการบ้านเรียนขึ้น เพื่อรับอาสาสมัครนานาชาติได้เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการด้านการสอนให้มีความชัดเจนขึ้น และเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างเด็กในชุมชน และอาสาสมัครนานาชาติ รวมทั้งอาสาสมัครไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในบ้านเรียนท่ายาง
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557ดาหลาได้จัดค่ายอาสาสมัครระยะสั้นขึ้นที่บ้านท่ายาง เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นที่บริเวณบ้านพักของบังหลีม จัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชน ในเดือนเมษายน 2557 ดาหลาเปิดศูนย์อาสาสมัครระยะยาว และเริ่มเปิดรับอาสาสมัครตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา
ส่วนในเดือนมกราคม ปี 2558นี้ ทางดาหลา และบ้านเรียนรู้ท่ายาง มีแผนที่จะจัดค่ายอาสาสมัครระยะสั้น ขึ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างอาคารห้องน้ำสำหรับอาสาสมัคร พัฒนาพื้นที่โดยรอบบ้านเรียน สอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบบ้านเรียน และกิจกรรมกับเด็ก
กิจกรรมที่จะทำ ** กิจกรรมที่แน่นอนจะแจ้งให้ทราบก่อนค่ายเริ่มประมาณ 2 อาทิตย์**
- สร้างห้องสมุด /ที่พักอาสาสมัคร/ ลานกิจกรรม ในบริเวณบ้านเรียน
- กิจกรรมกับเด็ก เช่น เกมส์ ศิลปะ ทำเกษตร
- การสอนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ที่โรงเรียนบ้านท่ายาง
บริบทชุมชน
ชุมชนท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิม ที่อยู่ไม่ไกลจากทะเลอันดามัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมีสะพานท่ายางเป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับตัวเมืองละงู เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นเกาะ มีสายน้ำล้อมรอบ ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งเป็นปัจจัยสำคัญ และการทำสวนจาก ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่ชาวบ้านท่ายางมาอย่างช้านาน ต้นจาก พืชสารพัดประโยชน์ที่สามารถใช้ทุกส่วนมาทำประโยชน์ได้ เช่น ใบจากสามารถนำมาลอกเป็น “ใบจาก” สำหรับสูบและสามารถนำใบจาก มาทำเป็นหลังคาจาก นอกจากนั้น ต้นจาก สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้อีกมากมาย เช่น น้ำตาลจาก ลูกจาก เครื่องจักสานจากก้านจาก ขนมจาก ที่ห่อด้วยใบจาก และอื่นๆอีกมากมาย
ชุมชนบ้านท่ายาง มีโรงเรียนประถม ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เปิดสอนในระดับชั้น อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีมัสยิดบ้านท่ายางเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพี้น้องมุสลิม มีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด(ตาดีกา) เป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ทางด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม สำหรับเด็กในพื้นที่ มีศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นจาก ตั้งอยู่ในชุมชน และมีภูมิปัญญาด้านการทำประมงพื้นบ้านที่เป็นต้นทุนทางทรัพยากรในชุมชน ได้ใช้ประโยชน์และคงคุณค่าแก่การเรียนรู้และการอนุรักษ์ไว้สืบไป
อาหาร
อาหารจะเน้นอาหารท้องถิ่น เนื้อสัตว์ ผัก ปลา ที่หาซื้อได้ง่ายในหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีการประกอบอาชีพประมง อาหารของคนในชุมชน จึงเป็นอาหารประเภทปลาเป็นส่วนใหญ่ และเป็นอาหารฮาลาล (อาหารที่ปรุงตามหลักการของอิสลาม) ในระยะแรกศูนย์บ้านเรียนท่ายางยังไม่มีห้องครัว จึงต้องใช้ห้องครัวในบ้านของบังหลีม อาสาสมัครสามารถช่วยประกอบอาหารร่วมกับผู้ดูแลโครงการ ส่วนในระยะยาวทางศูนย์มีโครงการที่จะทำแปลงผักปลอดสารพิษ เพื่อทำมาเป็นอาหารในศูนย์ด้วย
ที่พัก ห้องน้ำ
บ้านพักของผู้รับผิดชอบโครงการในพื้นที่ (บังหลีม) มีห้องสำหรับรองรับอาสาสมัคร 1 ห้อง และบริเวณอาคารบ้านเรียน มีห้องพักสำหรับอาสาสมัคร จำนวน 2 ห้อง บริเวณอาคารบ้านเรียนมีสถานที่เปิดโล่ง ที่สามารถกางเต้นท์นอนได้ประมาณ 4-5 หลัง ส่วนห้องน้ำในระยะนี้ ต้องใช้ห้องน้ำภายในบ้านของผู้รับผิดชอบโครงการจนกว่าจะมีการสร้างห้องน้ำในส่วนของอาสาสมัครในโอกาสต่อไป
ซักผ้า ซักมือ ผงซักฟอกของตนเอง(มีจำหน่ายในร้านค้าชุมชน)
ข้อควรทราบ
เนื่องจากชุมชนบ้านท่ายาง เป็นชุมชนมุสลิม ในช่วงเดือนรอมฎอน ชุมชนมุสลิมจะมีเทศกาลถือศีลอด ชาวบ้านจะไม่มีกิจกรรมในช่วงกลางวันมากนัก อาสาสมัครสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของมุสลิมในช่วงถือศีลอดได้ งดเว้นการประการอาหารที่มีส่วนประกอบของหมู และต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งการมิดชิด ผู้ชายใส่กางเกงเลยเข่า ผู้หญิงแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย
ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้ สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน หรือติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล สามารถเดินทางไปในตัวเมืองละงูได้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนท่ายางประมาณ 5 กิโลเมตร โดยอาสาสมัครต้องติดต่อผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ กรณีที่ต้องออกไปในตัวเมืองละงู
คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม
- ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
- มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
- รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
- ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมือง สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้
- เคารพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น พร้อมเปิดใจรับและเข้าใจความเป็นชุมชน
เงื่อนไขการร่วมโครงการ
1. ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมค่าย 2,000 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าอาหาร ค่าดำเนินกิจกรรม ค่าสถานที่ และค่าบำรุงสมาคม
2. อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ
3. ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง
4. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้ง 2 สัปดาห์
5. เตรียมของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม แป้ง ผงซักฟอก ยารักษาโรค เป็นต้น
สำหรับอาสาสมัครไทยที่สนใจ เข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ศึกษารายละเอียดโครงการที่สนใจ และสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ลิงค์ข้างล่าง
http://www.dalaa-thailand.com/wordpress/?page_id=599
2. กรอกใบสมัคร แจ้งชื่อ /ความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ(ระบุว่าสนใจร่วมค่ายไหน) /ทราบรายละเอียดโครงการจากที่ใด ระบุหัวข้อ สมัครค่ายสาสาสมัครระยะสั้น (ชื่อค่าย) ส่งเมลล์มาที่ dalaa.thailand@gmail.com
3. ดาหลาจะแจ้งรายละเอียดค่าย และการเตรียมตัวก่อนไปค่ายให้กับอาสาสมัครศึกษาข้อมูลก่อนไปค่าย
4. ดาหลาจะรวบรวมรายชื่อผู้เข้าร่วมค่ายตามจำนวนที่ระบุไว้ว่าสามารถรับได้กี่คน(สมัครก่อนมีสิทธิก่อน) แล้วแจ้งรายละเอียดและนัดหมายการเดินทาง
5. อาสาสมัครไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมค่าย 2,000 บาท เพื่อนำเงินนี้ไปซื้อกับข้าวสำหรับอาสาสมัครตลอดทั้งค่าย ค่าบำรุงที่พัก ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าบำรุงสมาคม
6. สำหรับค่าเดินทาง อาสาสมัครต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด